Website for Vinyl Lovers
www.musicfountain.net

Home   |    Vinyl Club   |    Reviews   |    LP Shop   |    Acoustics   |    Gallery   |    Services   |    FAQs   |    Order & Contact

Vinyl Club
Tonearm Setup

สิ่งที่สำคัญอย่างหนึ่งของการเล่นแผ่นเสียงคือการปรับตั้งโทนอาร์ม หรือ Tonearm Setup ซึ่งก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักโทนอาร์มกันเสียก่อนว่ามันคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายๆท่านอยากทราบถึงวิธีปรับตั้งโทนอาร์มของเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่เล่นอยู่ด้วย
Tonearm & Bearing

เป็นส่วนประกอบที่สำคัญชิ้นหนึ่งของเครื่องเล่นแผ่นเสียง เนื่องจากเป็นส่วนที่ติดตั้งหัวเข็มเป็นที่ร้อยผ่านของสายสัญญาณจากหัวเข็ม รวมถึงการตั้งหัวเข็ม ตั้งน้ำหนัก และ Anti-skating ซึ่งจะต้องพาหัวเข็มผ่านร่องที่มีสัญญาน ความเที่ยงตรงของอาร์มเท่านั้นที่จะนำมาซึ่งเสียงดนตรีที่สมบูรณ์

เราจึงต้องให้ความสำคัญและพิถีพิถันกันเป็นพิเศษเพราะเสียงจะดีหรือไม่นั้นเริ่มจากตรงนี้เป็นอันดับแรก อีกทั้งการปรับตั้งโทนอาร์มอย่างถูกต้องจะช่วยยืดอายุให้หัวเข็มและลดการสึกกร่อนของแผ่นเสียงได้มากทีเดียว

Tonearm แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ


Rega RB 250

1. Pivoted Tonearm
คือโทนอาร์มที่มีจุดหมุนวาดอาร์มเป็นรัศมีไปตาม track ซึ่งมีจุดยึดของแกนที่ควบคุมการเคลื่อนที่ของการวาดอาร์มในแนวนอนและแนวตั้งอยู่แยกกันโดยใช้ Ball bearing พบเห็นกันทั่วไปในเครื่องเล่นแผ่นเสียงหลายยี่ห้อ เช่น Rega RB 250


Graham Unify



2. Unipivoted Tonearm
คือ โทนอาร์มที่มีจุดหมุนวาดอาร์มเป็นรัศมีเช่นกัน แตกต่างกันกับ Pivoted Tonearm ตรงที่จุดยึดของแกนที่ควบคุมการเคลื่อนที่การวาดอาร์มในแนวนอนและแนวตั้งอยู่ที่จุดเดียวกัน เปรียบอาร์มเหมือนกับเข็มทิศตั้งอยู่บนเดือย สามารถเคลื่อนที่ได้ทุกแนวแกน ซ้าย ขวา กระดกขึ้น ลงได้อย่างอิสระ เช่น Graham Unify


Clearaudio TQ - I 2000



3. Linear Tonearm
คือ โทนอาร์มที่เคลื่อนที่เป็นแนวเส้นตรง ซึ่งเป็นการเคลื่อนที่ในลักษณะเดียวกันกับเครื่องกัดร่องแผ่นเสียง การเคลื่อนที่ในลักษณะนี้ทำให้หัวเข็มได้ฉากกับจุดหมุนแผ่นเสียงตลอดเวลาตั้งแต่ ณ.บริเวณร่องริมแผ่นจนกระทั่งร่องในสุด ซึ่งเวลา playback จะย้อนรอยการบันทึกได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน เป็นอาร์มที่ไม่ต้องมี Anti-skating และไม่เกิด Error ของการวาดอาร์มเหมือนแบบ Pivoted โดยปรกติแล้วจะพบเห็นโทนอาร์มแบบนี้กับเครื่องเล่นแผ่นเสียงระดับสูงเท่านั้น เช่น Clearaudio TQ-I 2000 โทนอาร์มชนิดนี้มีทั้งแบบการทำงานด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าและแบบทำงานด้วยลม

ส่วน Bearing ของโทนอาร์มแบบ Pivoted นั้นแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

1. Ball bearing คือ ใช้ลูกปืนควบคุมการเคลื่อนที่ของโทนอาร์มในแนวตั้ง (Verticle Axis) และแนวนอน (Horizontal Axis)

2. Pivot bearing คือ ใช้เดือยเหล็กแหลมเป็นจุดหมุนควบคุมการเคลื่อนที่ของโทนอาร์มในทุกทิศทาง


รูปแสดง ภาพตัดภายในเปรียบเทียบระหว่าง Ball bearing (ซ้าย) และ Pivot bearing (ขวา)



Effective Lenght


รูปแสดง ระยะ Effective Lenght

เนื่องจากนักเล่นแผ่นเสียงส่วนใหญ่จะเล่น Pivoted Tonearm กันอย่างแพร่หลายมากที่สุด ดังนั้นผมจะขอกล่าวถึงเฉพาะในเรื่องของการปรับตั้งโทนอาร์มชนิดนี้เพียงอย่างเดียว ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ วิธีแบบ Vernier และแบบ Static

Steps of Setup


1. ติดตั้งหัวเข็ม


2. เพิ่ม Weight ถ้าจำเป็น


3. ติดตั้ง Headshell


4. ใส่ Counterweight ท้ายโทนอาร์ม


5. ปรับโทนอาร์มให้ Balance


6. สังเกตการลอยตัว


7. หมุนแหวนไปที่ 0


8. ตั้งน้ำหนักตามต้องการ


9. ตั้ง Anti-skating



Vernier Method

ใช้กับเครื่องเล่นที่ไม่มี Scale ตั้งน้ำหนักบนตุ้มท้ายอาร์ม เช่น REGA เป็นต้น

1. เริ่มจากนำเอาเครื่องเล่นออกจากกล่อง ถ้าอาร์มยังไม่มีหัวเข็มก็ไปหามาติดให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีเครื่องช่วยการติดตั้งหัวเข็ม เช่น JIG ปรับตั้งหัวเข็มแถมมากับเครื่องรุ่นนั้นๆด้วยอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเป็นแบบถอด Headshell มาเข้า JIG กันข้างนอก เช่น DUAL 505-4 หรือใช้ Protractor ช่วยติดตั้งหัวเข็มสำหรับอาร์มที่ถอด Headshell ไม่ได้ หัวเข็มบางชนิดจะมีน้ำหนักถ่วง (Weight) มากับชุด ซึ่งอาจจำเป็นต้องติดเพิ่มเข้าไปในกรณีที่ต้องการน้ำหนักมากกว่าที่ปรับตั้งได้จากเครื่อง อีกทั้งควรปรับตั้งหัวเข็ม (Alignment) ให้เรียบร้อยตั้งแต่แรกที่ติดตั้งหัวเข็มเสียเลย จะได้ไม่ต้องย้อนกลับมาทำอีกหลังจากปรับตั้งอาร์มเสร็จเรียบร้อยแล้ว

2. หลังจากติดตั้งหัวเข็มบน Headshell และปรับตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้นำอาร์มเข้าที่พักแล้วล๊อคไม่ให้ขยับ ตั้ง Scale กำหนดน้ำหนักกดและ Anti-skating ไว้ที่ 0 แล้วจึงนำตุ้มน้ำหนัก (Counterweight) ติดท้ายอาร์ม ซึ่งตุ้มน้ำหนักอาจจะเป็นแบบหมุนเข้าหรือดันเข้าก็แล้วแต่รุ่นนั้นๆ

3. ปลดอาร์มออกจากที่พัก ใช้มือประคองเลื่อนอาร์มเข้าไปหาแป้นหมุน (Platter) ให้เลยริมนอกเข้าไปประมาณ 1 นิ้ว ระหว่างที่ใช้มือประคองไว้นี้ ให้ใช้มืออีกข้างค่อยๆหมุนหรือดันตุ้มน้ำหนักทีละน้อยๆ จนรู้สึกว่าอาร์มที่ประคองอยู่นั้นมีอาการลอยอยู่เหนือแป้นหมุน

4. ระหว่างที่ปรับตุ้มน้ำหนักเข้า-ออกทีละน้อยอยู่นั้น ให้ลองปล่อยอาร์มแล้วสังเกตดูเรื่อยๆจนกระทั่งอาร์มลอยขนานกับแป้นหมุน ปลายอาร์มไม่เชิดขึ้นหรือทิ่มลง แสดงว่าอาร์มอยู่ในสภาวะสมดุล (Fully Balance) เรียบร้อยแล้ว

5. ต่อจากนี้ให้กำหนด Scale น้ำหนักกดของหัวเข็มตามที่คู่มือระบุ ซึ่งปรกติจะให้น้ำหนักอยู่ระหว่าง 1.5 - 3.0 กรัม ถ้าหัวเข็มที่ใช้ต้องการน้ำหนักกดมากกว่า Scale ที่มีบนเครื่อง อาจต้องติดน้ำหนักถ่วงเพิ่มอย่างที่ได้กล่าวในข้อ 1. ก็จะเพิ่มน้ำหนักได้ตามต้องการ

6. ในเบื้องต้นนี้ให้ตั้ง Anti-skating เท่ากับน้ำหนักกดของหัวเข็มสำหรับการเล่นแบบปรกติ (Dryplay) เครื่องเล่นที่มี Anti-skating ระบบสปริงมักจะเป็นปุ่มหมุนหรือเลื่อน ส่วนที่ใช้ตุ้มถ่วงนั้นการกำหนดร่องให้น้ำหนักต้องดูจากคู่มือของเครื่องเล่นรุ่นนั้นๆ

7. อาจต้องทำการปรับตั้งซ้ำไปมา 2-3 ครั้งจนเข้าที่ดีแล้ว สุดท้ายให้นำแผ่นเสียงที่คุ้นเคยมาเล่น ถ้ารู้สึกว่าเสียงบางเกินไปให้เพิ่มน้ำหนักกด ถ้าเสียงทึบเกินไปให้ลดน้ำหนักกดลง ให้ปรับทีละน้อยครั้งละประมาณ 0.25 กรัม แล้วอย่าลืมปรับ Anti-skating ตามด้วยทุกครั้ง

Static Method

ใช้กับเครื่องเล่นที่มี Scale บนตุ้มน้ำหนักซึ่งมักเป็นเครื่องเล่น DJ เช่น Technics SL 1200 mk II

1. ให้ปฏิบัติเช่นเดียวกับข้อ 1. ของการปรับตั้งแบบ Vernier

2. หลังจากติดตั้งหัวเข็มบน Headshell และปรับตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้นำอาร์มเข้าที่พักแล้วล๊อคไม่ให้ขยับ นำตุ้มน้ำหนักติดท้ายอาร์มโดยให้ด้าน Scale ตัวเลขหันไปทางหัวเข็ม

3. ปลดอาร์มออกจากที่พักแล้วใช้มือประคองเลื่อนอาร์มเข้าไปหาแป้นหมุน (Platter) ให้เลยขอบนอกเข้าไปประมาณ 1 นิ้ว ระหว่างที่ใช้มือประคองไว้นี้ ให้ใช้มืออีกข้างหนึ่งค่อยๆหมุนหรือดันตุ้มน้ำหนักทีละน้อยๆ จนรู้สึกว่าอาร์มที่ประคองอยู่นั้นมีอาการลอยอยู่เหนือแป้นหมุน

4. ระหว่างที่ปรับตุ้มน้ำหนักเข้า-ออกทีละน้อยอยู่นั้น ให้ลองปล่อยอาร์มแล้วสังเกตดูเรื่อยๆจนกระทั่งอาร์มลอยขนานกับแป้นหมุน ปลายอาร์มไม่เชิดขึ้นหรือทิ่มลง แสดงว่าอาร์มอยู่ในสภาวะสมดุล (Fully Balance) เรียบร้อยแล้ว

5. ให้หมุนแหวน Scale ตัวเลขแสดงน้ำหนักกดของหัวเข็มไปที่ 0 ต่อจากตรงนี้จึงหมุนตุ้มน้ำหนักทั้งตัวให้ Scale กำหนดน้ำหนักไปที่น้ำหนักที่ต้องการ ถ้าหัวเข็มที่ใช้ต้องการน้ำหนักกดมากกว่า Scale ที่มีบนเครื่องเล่นก็ต้องติดน้ำหนักถ่วงเพิ่ม

6. ในเบื้องต้นนี้ให้ตั้ง Anti-skating เท่ากับน้ำหนักกดของหัวเข็มสำหรับการเล่นแบบปรกติ (Dry play)

7. อาจต้องทำการปรับตั้งซ้ำไปมา 2-3 ครั้งจนเข้าที่ดีแล้ว สุดท้ายให้นำแผ่นเสียงที่คุ้นเคยมาเล่น ถ้ารู้สึกว่าเสียงบางเกินไปให้เพิ่มน้ำหนักกด ถ้าเสียงทึบเกินไปให้ลดน้ำหนักกดลง ให้ปรับทีละน้อยครั้งละประมาณ 0.25 กรัม แล้วอย่าลืมปรับ Anti-skating ตามด้วยทุกครั้ง

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ทุกท่านสามารถลงมือได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือใดๆ เพียงไม่กี่ครั้งก็จะเกิดความชำนาญ และจะเป็นเรื่องที่สนุกสนานสำหรับการเล่นแผ่นเสียง

REMARK :

- ถ้าเป็นการปรับตั้งอาร์มในการเล่นแบบ Scratch หรือการถูแผ่น Anti-skating จะต้องตั้งไว้ที่ 0
- หลังจากการเคลื่อนย้ายเครื่องเล่นแผ่นเสียง จะต้องทำการปรับตั้งอาร์มทุกครั้ง
- หัวเข็มแบบ DJ จะใช้น้ำหนักกดอยู่ประมาณ 3-5 กรัม
- น้ำหนักกดของหัวเข็มมาก ปลายเข็มสึกหรอเร็วและแผ่นสึกหรอมาก แต่ได้เนื้อเสียงหนา
- น้ำหนักกดของหัวเข็มน้อย ปลายเข็มสึกหรอช้าและแผ่นสึกหรอน้อย แต่ได้เสียงที่บางกว่า
- ต้องถอดครอบหัวเข็มออกทุกครั้ง (สำหรับแบบที่ไม่ติดกับหัวเข็ม) เมื่อตั้งน้ำหนักหัวเข็ม




 
Website for Vinyl Lovers
Music Fountain:
Lobby: 1811/61 Parkland Grand Petchuburi Ext, Bangkok Thailand 10310
Audition Office: 88/7 Soi Prachankadee Sukhumvit 39 (Prompong), Bangkok Thailand 10110
Telephone: 091-128-1128

Send mail to musicfountain@yahoo.com with questions or comments about this web site.
Copyright© 2003 Music Fountain