Website for Vinyl Lovers
www.musicfountain.net

Home   |    Vinyl Club   |    Reviews   |    LP Shop   |    Acoustics   |    Gallery   |    Services   |    FAQs   |    Order & Contact

Reviews
VCL Prestige Phono Stage Too Bright for Tube Lover.

VCL Prestige Phono Stage
Too Bright for Tube Lover.
Introduction
ขอแนะนำเครื่องเสียงของไทยอีกรายหนึ่งซึ่งได้ทำธุรกิจอยู่ในแวดวงเครื่องเสียงมาเป็นเวลานานแล้ว แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางเท่าที่ควร เนื่องจากทางผู้ดำเนินกิจการไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์และทำการตลาดอย่างจริงจัง จึงเป็นที่รู้จักเฉพาะในหมู่ของนักเล่นที่ชอบแสวงหาเท่านั้น Poem เป็นร้านเครื่องเสียงที่เก็บตัวอย่างเงียบๆบนชั้น 3 ของศูนย์การค้าดิโอลสยามพลาซ่า ด้านถนนบูรพา ซึ่งเดิมทีนั้นใช้ชื่อผลิตภัณฑ์ของตนในชื่อ VCL แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ Poem กับผลิตภัณฑ์เหมือนชื่อร้าน เครื่องเสียงของ Poem นั้นมีอยู่หลายอย่าง ได้แก่ Pre-Amp, Amp, Integrated Amp, Phono Stage และลำโพง โดยเฉพาะลำโพงนั้นมีจุดเด่นที่ใช้ Driver คุณภาพสูงอย่าง Scanspeak, Vifa และSeas ตลอดจนการใช้ Crossover แบบ Hard-wire เช่นเดียวกับลำโพงชั้นดีโดยทั่วไป และที่สำคัญคือเป็นลำโพงแบบปิดที่หาฟังได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งผมได้สัมผัสเสียงอยู่ครู่ใหญ่รู้สึกว่าเป็นลำโพงของไทยที่ "เข้าท่า" มากทีเดียว แต่เรื่องที่จะขอนำเสนอต่อไปนี้ขอเป็นเรื่องของ VCL Phono Stage รุ่น Prestige เพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องขอขอบคุณ คุณ Classical lover เป็นอย่างยิ่งที่ได้กรุณาให้เครื่องตัวนี้มาทดลองฟังอย่างเต็มที่ครับ


รูปแสดง ด้านหน้าและด้านหลังเครื่อง



Appearance
EXTERIOR
ตัวเครื่องมีขนาดมาตรฐานของเครื่องเสียงทั่วไป จึงทำให้สามารถวางซ้อนกับเครื่องเสียงชิ้นอื่นได้ไม่ยาก ตัวถังทำจากอลูมิเนียมอย่างหนาพิเศษ โดยขอบข้างใช้แผ่นอลูมิเนียม 2 ชิ้นดัดขึ้นรูปมาประกอบกันเป็นกรอบตัวถัง ส่วนด้านบนและด้านล่างเป็นแผ่นอลูมิเนียมวางลงในกรอบตัวถังปิดด้านบนและด้านล่าง ยึดด้วยนัทหัวเรียบไขด้วยสกรูหกเหลี่ยมเหมือนเครื่องเสียงระดับ HI-END ซึ่งยอมรับเลยว่าเป็นงานผลิตตัวถังเครื่องที่ประณีตและแข็งแรงมากสำหรับเครื่องเสียงที่ผลิตในประเทศ ด้านหน้ามีสวิทซ์เปิด / ปิดแบบกดอยู่ด้านซ้ายมือพร้อมหลอดแสดงการทำงาน ด้านหลังมีขั้ว RCA ของ input / output ชุบทอง พร้อมขั้วต่อสายดินทองเหลืองและสาย AC แบบถอดได้ ซึ่งทั้งหมดเป็นงานที่ประณีตเช่นกัน


INTERIOR
เมื่อเปิดฝาเครื่องด้านบนจะพบกับกล่องเหล็กครอบหม้อแปลงและวงจรอีกชั้นหนึ่ง จึงต้องทำการถอดครอบกล่องเหล็กนี้ด้วยจึงจะสามารถเห็นรายละเอียดของวงจรได้ เมื่อได้เปิดครอบทั้งหมดที่กล่าวมาเรียบร้อยแล้ว วงจรที่ปรากฏให้เห็นนั้นประกอบด้วยหม้อแปลงแบบวงแหวน 1 ตัวและ Capacitor ของ ELNA ขนาด1000 uFจัดวางเป็นตับอยู่ 20 ตัวพร้อมกับวงจรประกอบอื่นๆ ซึ่งการออกแบบวงจรในลักษณะนี้จะปรากฏให้เห็นใน Phono Stage ประสิทธิภาพสูงทั่วไปโดยเฉพาะ DIY ของต่างประเทศ แต่ที่ยังติดใจสงสัยอยู่อย่างหนึ่งก็คือไม่ทราบวัตถุประสงค์ของผู้ออกแบบวงจร ที่ออกแบบให้หม้อแปลงและวงจรถูกครอบไว้ในกล่องเหล็กร่วมกัน ซึ่งที่พบเห็นทั่วๆไปนั้นส่วนมากจะครอบเฉพาะหม้อแปลงเพียงอย่างเดียว เพื่อป้องกันการรบกวนของสนามแม่เหล็กจากหม้อแปลง โดยบางเครื่องอาจจะแยกหม้อแปลงให้อยู่อีกตัวถังหนึ่งต่างหากไปเลย


Sound
เนื่องจาก Phono ตัวนี้ไม่ได้ใช้งานมาเป็นเวลานาน จึงต้องทำการ Burn-in กันใหม่อีกครั้งโดยเปิดเครื่องต่อเนื่องกันเป็นเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อเรียกกำลังวังชาให้พร้อมก่อนที่จะเริ่มฟังกัน หลังจากที่้ Burn-in ได้พอสมควรแล้วจึงนำ PCL ตัวนี้มาเริ่มเล่นกับแผ่นชุด 10 to 23 (Jose Feliciano) ซึ่งเป็นเพลงอคูสติกกีต้าร์เป็นอันดับแรก ความรู้สึกแรกสัมผัสกับ PCL คือ ความเปิดโล่ง มีรายละเอียด เสียงของสายกีต้าร์ที่ขยับแต่ละเส้นนั้นได้บรรยากาศที่ถือว่าใช้ได้ทีเดียว แผ่นต่อมาผมได้หยิบเอาแผ่นชุด Hotel California (The Eagles) มาทดลองฟังความกระฉับกระเฉงดูบ้าง ปรากฎว่าไม่ค่อยเร้าใจเท่าที่ควรคือจังหวะกระชับดีแต่เบสน้อยไปหน่อยสำหรับ "Rocker" เลยหันกลับหยิบแผ่นชุด Karla Bonoff (Karla Bonoff) ต่อด้วยชุด Walking Man (James Taylor) อีกพักใหญ่ก็ได้ผลที่น่าพอใจกับเสียงร้องและดนตรีประเภทอคูสติกที่มีรายละเอียด จังหวะกระชับดีมาก แต่ข้อเสียของ PCL ตัวนี้ก็มีเช่นกัน คือ มี noise รบกวนค่อนข้างมาก เสียงแหลมโดดล้ำหน้ามากไปหน่อย อีกทั้งเป็น Phono Stage ที่มีรายละเอียดค่อนข้างสูงจึงไม่เหมาะที่จะเล่นกับแผ่นเก่านักเพราะจะฟ้องความเก่าของแผ่นด้วยเสียง "กร๊อบแกร๊บ" ให้ได้ยินชัดเจนทีเดียว รวมความได้ว่าแนวเสียงแบบนี้คงจะไม่เป็นที่ถูกใจผู้ที่ชอบเสียงเครื่องหลอดหรือคล้ายหลอด แบบ Phono Stage ของ Creek เป็นแน่นอน พอฟังจบผมเลยถือโอกาสทดลองกำลังสำรองของเครื่องโดย Turn off เครื่องแล้วสังเกตเวลาที่เครื่องจะหยุดส่งสัญญาน ปรากฏว่าใช้เวลาทั้งสิ้น 30 วินาทีพอดี ซึ่งนับได้ว่ามีกำลังพอสมควร

Final
Phono Stage ชื่อ PCL ในปัจจุบันนี้คงจะไม่มีจำหน่ายอีกแล้วแต่ถ้าใครสนใจก็คงจะหาซื้อได้ในชื่อ Poem ซึ่งเป็นผู้ผลิตเดียวกัน ส่วนราคานั้นเริ่มต้นจาก 6,000 บาทขึ้นไปจากรุ่นมาตรฐาน ส่วนความต้องการของลูกค้าจะมากกว่านี้ก็สามารถระบุได้โดยเพิ่มราคาตาม spec.ที่มากขึ้นได้ ซึ่งโดยภาพรวมแล้ว Poem ก็น่าจะเป็นเครื่องเสียงของไทยที่ดีอีกยี่ห้อหนึ่งที่นักเล่นเครื่องเสียงสามารถเลือกได้ในรุ่นมาตรฐาน ส่วนนอกเหนือจากนี้คงจะอยู่ที่รสนิยมของแต่ละคน บ้างก็ว่าคุ้มค่าบ้างก็ว่าเสียดายเงินเก็บไว้ซื้อเครื่อง Brand name ดีกว่า โดยส่วนตัวของผมนั้นคิดว่า Phono Stage ชนิด Transistor ทำให้ดีได้ียากกว่าชนิด Tube มาก จึงขอแนะนำให้เริ่มจากรุ่นมาตรฐานสักตัวก่อนถ้าชอบก็ค่อย upgrade ขึ้นไป ถ้าไม่ชอบก็หยุดแค่นั้นเป็นประสบการณ์ ซึ่งถือเป็นความสนุกของการเล่นเครื่องเสียงครับ

จุดเด่น
- ภาคจ่ายไฟกำลังสูง ตัวถังเรียบร้อย

จุดด้อย
- เสียงรบกวนมาก เล่นกับหัว MC ไม่ได้
Systems




 
Website for Vinyl Lovers
Music Fountain:
Lobby: 1811/61 Parkland Grand Petchuburi Ext, Bangkok Thailand 10310
Audition Office: 88/7 Soi Prachankadee Sukhumvit 39 (Prompong), Bangkok Thailand 10110
Telephone: 091-128-1128

Send mail to musicfountain@yahoo.com with questions or comments about this web site.
Copyright© 2003 Music Fountain